วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แรงงานสตรี…อยู่ที่ไหนก็ทำงานหนัก……



แรงงานสตรี…อยู่ที่ไหนก็ทำงานหนัก……

พบกันอีกครั้งกับ “เปิดบ้านสถิติ” ฉบับควันหลงจากวันสตรีสากลเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงในปัจุบันนี้ นับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ผู้หญิงก็ยังคงต้องแบกรับภาระงานบ้าน และดูแลคนในครอบครัวอยู่เช่นเดิม หากมองการทำงานของผู้หญิงซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ยังพบว่าไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร มีการเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ และผลประโยชน์จากการทำงานของผู้หญิงให้เห็นอยู่เป็นประจำในสังคม
การมีงานทำของผุู้หญิง ตามเขตการปกครอง
ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิงจากการสำรวจภาวะทำงานของประชากรของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ ปีล่าสุด (ไตรมาส 3 พ.ศ. 2555) พบความแตกต่างในการประกอบอาชีพ และจำนวนชั่วโมงในการทำงานระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง โดยผู้หญิงที่อยู่ในเขตเมืองหรือในเขตเทศบาลกับผู้หญิงที่อยู่ในชนบทหรือนอกเขตเทศบาล มีสัดส่วนการทำงานไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ร้อยละ 63.06 สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในเขตเมือง และร้อยละ 65.88 สำหรับในชนบท แต่หากพิจารณาจากอาชีพ จะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน กล่าวคือ ประมาณ 9 ใน 10 ของผู้มีงานทำในเขตเมืองทำงานนอกภาคเกษตร ที่เหลืออยู่ในภาคเกษตร ขณะที่ผู้หญิงในเขตชนบทมากกว่าครึ่ง ทำงานในภาคเกษตร (ร้อยละ 54.25) และเกือบครึ่งทำงานนอกภาคเกษตร (ร้อยละ 45.75)
จำนวนชั่วโมงการทำงาน จำแนกตามอุตสาหกรรม
ในแง่ของคุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงานหญิง พิจารณาจากจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ ก็พบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยปกติการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่จากข้อมูลพบว่าผู้หญิงมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยสูงมาก คือ 45.14 ชั่วโมง โดยร้อยละ 34.03 ใช้เวลาในการทำงานระหว่าง 40–49 ชั่วโมง และประมาณ 1 ใน 5 ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง (ร้อยละ 23.33) เมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรม ผู้หญิงเกือบครึ่ง (ร้อยละ 44.14) ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม ทำงานระหว่าง 40-49 ชั่วโมง และมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36.95) ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 40.11 ที่ทำงานนอกภาคเกษตร ทำงานสัปดาห์ละ 40-49 ชั่วโมง และประมาณ 1 ใน 3 ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 23.33)
จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในอาชีพของผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติจนหลายๆ ภาคส่วนมองข้ามไป แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กับประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเท่าเทียมกัน และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงต่อไป การปิดช่องว่างการพัฒนาอาจไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากเริ่มลงมือทำ ก็ไม่สายที่จะช่วยให้ช่องว่างนั้นแคบลงได้....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น